[รีวิว] สรุปเนื้อหาหนังสือ “ทำไมคุยกับคนนี้แล้วรู้สึกดีจัง” แม้เป็นคนคุยไม่เก่ง ก็สามารถคุยให้สนุกได้

ทำไมคุยกับคนนี้แล้วรู้สึกดีจัง - krapalm 20230122 214114 3 - ภาพที่ 1

หนังสือ ทำไมคุยกับคนนี้แล้วรู้สึกดีจัง เล่มนี้เป็นหนังสือเกี่ยวกับแนะนำเทคนิคและเคล็ดลับในการพูดสำหรับคนที่พูดไม่เก่ง เหมาะสำหรับคนที่อยากได้เคล็ดลับในการนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ตัวเองสามารถเข้าร่วมกลุ่มสนทนาได้อย่างสบายใจ เปลี่ยนจากการเป็นคนที่ไม่ชอบคุย ไม่รู้จะคุยอะไร เป็นคนที่สามารถชวนคุยและสามารถมีบทสนทนายาว ๆ ได้โดยที่ตัวเองไม่รู้สึกอึดอัด

สาเหตุที่เราหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านเพราะ โดยธรรมชาติเราก็เป็นคนที่ไม่ชอบคุยและก็เป็นคนที่คุยไม่เก่ง นึกบทสนทนาไม่ออก เราไม่ชอบคุยกับคนแปลกหน้า แม้แต่กับคนที่สนิทเราก็ไม่ค่อยคุย (ไม่รู้จะคุยอะไร) แต่ถ้าเขาถามอะไรมาเราก็ยินดีจะตอบ หลายครั้งเราก็พยายามอยากจะเป็นคนที่คุยเก่ง แต่มันก็ยากพอสมควรมันต้องอาศัยการฝึกฝน หนังสือเล่มนี้เลยคิดว่าอาจจะตอบโจทย์เราบ้างอาจจะพอให้เรามีไอเดียในการเข้าร่วมวงสนทนากับคนอื่นๆได้บ้าง

เล่มนี้ใช้เวลาอ่านจบเร็วกว่าหนังสือ เรื่องที่แบกไว้ เธอจะวางก็ได้นะ อีก ซึ่งเราก็อ่านต่อจากหนังสือ “เรื่องที่แบกไว้ เธอจะวางก็ได้นะ” นี่แหละ ไปนั่งอ่านในร้าน สตาร์บัคส์ เซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 1 สาขานี้สวย และใหญ่อลังการมาก ไว้จะเขียนรีวิวให้ชม

เราชอบแนวคิดของหนังสือเล่มนี้ ที่บอกว่าเป้าหมายของการพูดก็คือการพูดนั่นเอง ไม่ได้มีเป้าหมายอะไรที่มากกว่านั้น ไม่ต้องมีผลลัพธ์หรือผลประโยชน์ใด ๆ เราแค่ต้องการพูดเพื่อที่จะได้พูด แม้เราจะเป็นคนที่สนิทกันแล้ว แต่อย่าลืมว่า เราต่างก็เคยเป็นคนแปลกหน้าของกันและกันมาก่อน ฉะนั้นแล้วการนะเริ่มคุยกับคนแปลกหน้าไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว เพราะวันหนึ่งสุดท้ายแล้วเราอาจจะเป็นคนที่สนิทกันและสานสัมพันธ์กันต่อได้

ทำไมคุยกับคนนี้แล้วรู้สึกดีจัง - krapalm 20230122 214114 - ภาพที่ 3

สรุปเนื้อหาหนังสือ “ทำไมคุยกับคนนี้แล้วรู้สึกดีจัง”

โดยหนังสือ ทำไมคุยกับคนนี้แล้วรู้สึกดีจัง  จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ภาคทฤษฎีที่จะบอกเล่าทฤษฎีต่าง ๆ พร้อมทั้งเคล็ดลับเพื่อที่เราจะสามารถนำไปปฏิบัติต่อได้ และส่วนที่ 2 ก็เป็นภาคปฏิบัติ ซึ่งจะมีการสมมุติสถานการณ์ หรือเหตุการณ์เพื่อให้เรานำทฤษฎีที่เราได้รู้ หรือเคล็ดลับที่เราได้อ่านมา มาประยุกต์ใช้สามารถเรียนรู้ที่จะตั้งคำถามต่อบทสนทนาได้เก่งขึ้น

เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้มีสถานการณ์หนึ่งซึ่งมันตรงกับชีวิตจริงของเรามาก เราเป็นคนที่ไม่ชอบทักคนอื่น โดยเฉพาะเวลาที่เจอคนรู้จักในลิฟท์ เราเลือกแก้ปัญหาด้วยกันมองไม่เห็น ก้มหน้าก้มตาเช็คเมล์ในโทรศัพท์มือถือ หรือถ้าจำเป็นต้องทักจริง ๆ ก็ถามอีกฝ่ายแค่ว่าจะไปชั้นไหน เพื่อที่จะได้กดปุ่มให้ แล้วจะได้ไม่ต้องคิดหัวข้อสนทนา หรือบางทีถ้าเจอคนรู้จักที่กดลิฟท์อยู่ เรายอมที่จะเดินเลี่ยงออกไปเพื่อที่จะได้ไม่ต้องคุยกับเขา หรือรอลิฟท์ตัวใหม่มา

ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ได้เสนอเคล็ดลับสำคัญมีอยู่ว่า เราต้องคิดว่าการสื่อสารนั้นเป็นเกม ซึ่งมีกติกาเหมือนกับเกมอื่น ๆ ขอแค่เรารู้ว่ากติกานั้นคืออะไร เราก็แค่ทำตามกฎและหมั่นฝึกฝนจนมีเทคนิคติดตัว เราก็จะไม่รู้สึกประมาทเวลาเล่นเกมในที่นี้หมายถึงการพูดนั่นแหละครับ

ในหนังสือเล่มนี้ยังสอนเรื่อง การอ่านบรรยากาศ เพื่อประเมินสถานการณ์และอารมณ์ความรู้สึกในสถานการณ์และเวลานั้น ๆ แล้วเลือกปฏิบัติตัวให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมรอบด้าน รู้ว่าควรพูดและวางตัวอย่างไร หลีกเลี่ยงการวางตัวที่ไม่ถูกบรรยากาศ และพูดจาไม่ถูกกาลเทศะ ปรับอารมณ์ของตัวเองให้กลมกลืนกับสถานการณ์ที่กำลังประสบอยู่ แล้วดูสถานการณ์ตอนนั้นหรือคนคุยด้วยกำลังรู้สึกแบบไหน

ทำไมคุยกับคนนี้แล้วรู้สึกดีจัง - krapalm 20230122 214114 2 - ภาพที่ 5

และที่สำคัญควรปรับอารมณ์ให้เข้ากับสถานการณ์

คนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจผิดว่า คนที่มีทักษะในการพูดคือคนที่สามารถพูดได้ทุกที่ ทุกเวลา คุยสนุก อยู่ด้วยแล้วไม่น่าเบื่อ แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนที่มีทักษะในการพูด คือ คนที่ทำให้คนคุยด้วยแล้วรู้สึกดี สามารถชักนำการสนทนาให้เป็นไปอย่างราบรื่น สิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า คนมีทักษะในการพูด

ให้นึกภาพง่าย ๆ สมมุติ เราอยู่ในงานเลี้ยงฉลอง ทุกคนต่างกำลังสนุกสนาน แล้วอยู่ ๆ ก็มีคนคนหนึ่งเล่าเรื่องชวนให้หดหู่ขึ้นมา แถมยังเล่าเก่งจนบรรยากาศสลดลงไปทั้งงาน คำถาม คือ คุณจะรู้สึกอย่างไรถ้าคุณกำลังอยู่ในงานที่ต้องสำรวม แต่กลับมีคนเล่าเรื่องตลกเสียงดัง ต่อให้เขาเล่าได้ขำแค่ไหน คุณก็คงไม่คิดว่าคนแบบนี้มีทักษะในการพูด นี่คือ คนที่อ่านบรรยากาศไม่เป็นอย่างที่แท้จริง

เพราะเป้าหมายในการพูดคุยไม่ใช่การทำให้ตัวเองโดดเด่นกว่าคนอื่น เพราะนอกจากมันจะส่งผลให้เรารู้สึกประมาณในการพูดมากขึ้น แล้วบรรยากาศในวงสนทนายังไม่ลื่นไหลด้วย เราคงเคยเห็นในการสนทนาที่มีคนพูดพูดอยู่แค่คนเดียวส่วนคนอื่น ๆได้แต่เงียบบ้างทำเป็นสนใจอย่างอื่นบ้างซึ่งมันน่าเบื่อพอสมควรเลย

ความกังวลของคนพูดไม่เก่ง

สำหรับคนพูดไม่เก่ง ช่วงที่ทำให้เรารู้สึกกังวลที่สุดคือ ตอนที่ต้องทักทายหรือพูดประโยคแรกออกไป เราจะมีความกังวล หรือกลัวว่าคนอื่นอาจจะไม่ประทับใจ กลัวว่าตัวเองจะทำให้บรรยากาศในวงสนทนาแย่ลง บางคนก็ถึงขั้นคิดแล้วคิดอีกว่าจะพูดอะไรดี ควรจะยิ้มอย่างไร วางท่าอย่างไร

ในหนังสือเล่มนี้แนะนำให้เราไม่ต้องคิดมากเลย แค่เริ่มเข้าหาคนอื่นด้วยอารมณ์กลาง ๆ ไม่เคร่งเครียด แต่ก็ไม่ร่าเริงจนเกินไป เข้าหาอย่างสุภาพ สังเกตสีหน้า หรือท่าทาง น้ำเสียงของอีกฝ่าย แล้วค่อย ๆ ปรับอารมณ์พยายามชักนำให้บรรยากาศในวงสนทนาไปในทางบวกให้ได้มากที่สุด

หากไม่รู้ว่าควรจะคุยเรื่องอะไร

คนที่คุยไม่เก่งจะกลุ้มใจอันดับต้น ๆ คือ ไม่รู้จะคุยเรื่องอะไรดี ซึ่งจริง ๆ แล้วเราสามารถคุยเรื่องอะไรก็ได้ที่เราอยากจะคุย แม้แต่เป็นการคุยเล่น ๆ ก็ตาม อาทิเช่น เรื่องสภาพอากาศ งานอดิเรก ข่าวสาร การเดินทาง คนรู้จัก ครอบครัว สุขภาพ ความสัมพันธ์ รวมถึง เสื้อผ้า อาหาร และที่อยู่

แม้หัวข้อสนทนาที่กล่าวมาพวกนี้จะมีประโยชน์ แต่สำหรับคนที่คุยไม่เก่ง ปัญหาก็คือต่อให้รู้หัวข้อที่จะคุยเล่น แต่ถ้าเราพูดกับใครสักคนว่า “วันนี้ร้อนนะครับ” อีกฝ่ายก็คงจะตอบมาแค่ว่า “อื้ม…” หรือ “ครับ” จากนั้นเราก็จะไปต่อไม่เป็น

แต่ถ้าคนที่คุยเก่งเดี๋ยวก็คงเอาตัวรอดได้ไม่ยากในสถานการณ์นี้ แต่ถ้าคนไม่เก่งอย่างเรา ๆ อาจจะถึงขั้นใจฝ่อได้เลย ในหนังสือเล่มนี้คิดค้นวิธีที่ทำให้ปลอดภัยและง่ายกว่า

ให้เรา ถามคำถามแทน การถามคำถามอย่างสุภาพเป็นวิธีที่ดึงคนอื่นเข้าสู่การสนทนาได้อย่างนุ่มนวล เพราะมันเป็นการสื่อความหมายว่า เราสนใจและต้องการความเห็นของเขา ในขณะที่การชวนคุยแบบประโยคที่บอกไว้ข้างต้น อย่าง “วันนี้อากาศร้อนนะครับ” เป็นการพูดโดยเอาความเห็นของตัวเองนำ ซึ่งอาจจะทำให้คนอื่นรู้สึกไม่ดีและคิดว่า แล้วจะมาบอกฉันทำไมเนี่ย

ให้เราเอาหัวข้อคุยเล่นที่เป็นสูตรสำเร็จมาประยุกต์ใช้ โดยเรียบเรียงคำพูดให้อยู่ในรูปแบบคำถาม แต่ต้องเป็นคำถามที่แสดงให้เห็นว่าเราสนใจในตัวคู่สนทนา เป็นคำถามกลาง ๆ ไม่ชวนให้เกิดความขัดแย้ง และสามารถตอบได้ง่าย

เช่น “บ้านเกิดอยู่ที่ไหนหรอ” ถ้าอีกฝ่ายตอบกลับมาว่า “อยู่อีสานนะครับ” เราก็อาจจะถามกลับต่อไปว่า “ส่วนไหนของอีสาน” “จังหวัดอะไร” เราสามารถถามได้อีกหลายคำถาม เช่น “กลับบ้านบ่อยไหม” “เดินทางกลับบ้านกี่ชั่วโมง” “กลับด้วยรถอะไร”

เพียงเท่านี้แล้วก็จะพูดคุยไปได้เรื่อย ๆ เมื่อจบเรื่องนึงก็ให้ตั้งคำถามอีกเรื่องนึงต่อได้เลย อาจจะเป็นเรื่อง อาหารที่ชอบ สภาพอากาศ การเดินทางท่องเที่ยวก็ได้ สิ่งเดียวที่ต้องจำไว้คือ ประเด็นที่คุยควรเป็นเรื่องของคู่สนทนาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเราไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องของตัวเองเลยแค่ตั้งคำถามสำหรับอีกฝ่ายก็พอ

และขอให้รู้ไว้ว่าไม่มีใครรู้สึกไม่ดีเวลาที่มีคนแสดงออกอย่างจริงใจว่าสนใจในตัวเราหรอก ที่สำคัญ พอทำแบบนี้คนพูดไม่เก่งก็ไม่จำเป็นต้องพูดอะไรมากเท่ากับได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่ายเลยทีเดียว