[รีวิว] สรุปเนื้อหาหนังสือ “อย่าเป็นคนเก่งที่คุยไม่เป็น”

อย่าเป็นคนเก่งที่คุยไม่เป็น - krapalm 2023 01 26 144742 - ภาพที่ 1

หนังสือ อยากเป็นคนเก่งที่คุยไม่เป็น เป็นหนังสือเกี่ยวกับแนะนำทักษะในการคุยเพื่อให้ประสบความสำเร็จจากคนธรรมดาที่ไม่มีทักษะในการพูดคุยให้กลายเป็นคนชั้นแถวหน้าที่สามารถพูดคุยได้อย่างสนุก เปลี่ยนการคุยเล่นที่ไร้สาระให้เป็นการคุยเล่นแบบคนชั้นแถวหน้า ซึ่งเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาคล้ายกับหนังสือเรื่องทำไมคุยกับคนนี้แล้วรู้สึกดีจัง โดยเนื้อหาจะพูดถึงทักษะในการคุยเล่นเหมือนกัน เราเลยหยิบมาอ่านต่อกันเพื่อจะได้มีเนื้อหาที่เชื่อมโยงกัน

โดยหนังสือเล่มนี้จะเปลี่ยนความคิดของคนอ่านจากการคุยเล่น ที่เราอาจจะเข้าใจว่าเป็นการคุยไร้สาระเป็นการคุยเล่นที่ไม่ใช่เรื่องไร้สาระ ด้วยการคุยเล่นนี้จะช่วยให้ความสัมพันธ์และคุณภาพการทำงานของเราเปลี่ยนไป

หนังสือ อย่าเป็นคนเก่งที่คุยไม่เป็น จะรวบรวมเทคนิคในการคุยเล่นแบบมีสาระไว้ทั้งหมด 38 หัวข้อ มีทั้งหมด 8 บท โดยบทที่ 8 จะเป็นบทสำหรับเริ่มฝึกคุยเล่นตั้งแต่ level ที่ 1 จนถึง level ที่ 8 โดยหนังสือให้แนวคิดว่าคนที่มีทักษะในการคุยเก่ง ๆ นั้นไม่ใช่พรสวรรค์หรือความสามารถที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่เป็นทักษะที่พัฒนาขึ้นมาได้เหมือนความแข็งแกร่งทางกายภาพของนักกีฬา

ทักษะการคุยเล่นเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถฝึกฝนได้ และเป็นทักษะที่จำเป็นต่อชีวิตการทำงานและมีโอกาสได้ใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ มากกว่าทักษะด้านอื่น ๆ ยิ่งเราฝึกฝนมากเท่าไหร่ ผลลัพธ์ก็ยิ่งแสดงออกมากขึ้นเท่านั้น รวมถึงแสดงให้เห็นได้ง่ายขึ้นด้วย แถมยังสามารถเลียนแบบวิธีของคนอื่นนำมาประยุกต์ใช้กับใครก็ได้

ในแต่ละหัวข้อทั้ง 38 หัวข้อจะมีหัวข้อที่แตกต่างกันไป โดยแต่ละหัวข้อจะมีเทคนิควิธีคิดและรูปแบบการพูดคุยที่แตกต่างกัน แต่ละบทจะมีตัวอย่างบทสนทนาที่ธรรมดาและตัวอย่างบทสนทนาที่ได้รับการฝึกฝนทักษะการพูดคุยมาแล้ว ทำให้เราได้เห็นว่าตัวอย่างบทสนทนาในแต่ละสถานการณ์ที่มันควรจะเป็นมันจะออกมาในรูปแบบไหนได้บ้าง ในแต่ละสถานการณ์เราควรเรียบเรียงคำพูด เตรียมตัว เตรียมเนื้อหาอย่างไรบ้าง

สรุปเนื้อหาหนังสือ อย่าเป็นคนเก่งที่คุยไม่เป็น

การคุยเล่น เราสามารถสร้างความเป็นกันเองด้วยการเล่าเรื่องผิดพลาดเล็กน้อยของตัวเอง ซึ่งมันช่วยสร้างความประทับใจได้ดีทีเดียว แต่เวลาที่คุยเล่นเราต้องไม่เล่าเรื่องของตัวเองอย่างเดียว เพราะมันจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดีกับตัวเรา อาจจะคิดว่า “เราเป็นใครทำไมคิดถึงแต่ตัวเอง” ในทางกลับกัน ถ้าอีกฝ่ายไม่รู้ว่าคนที่อยู่ตรงหน้าตัวเองเป็นใคร กำลังคิดอะไรอยู่ เขาก็ไม่สามารถสื่อสารกับเราได้อย่างสบายใจ ดังนั้นนำเสนอตัวเองในระดับที่พอเหมาะจะช่วยลดระยะห่างระหว่างกันได้อย่างรวดเร็ว

พื้นฐานสำคัญของวิธีนี้คือ “ไม่โอ้อวดตัวเอง” และ “เล่าเรื่องผิดพลาดเล็กน้อยของตัวเอง” แต่ต้องไม่เล่าเรื่องความผิดพลาดที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าคนนี้ไม่เอาไหน รวมถึงไม่เล่าประสบการณ์ หรือเรื่องส่วนตัวที่อาจจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกรังเกียจ ตัวอย่างเช่น เมื่อวานดื่มหนักไปหน่อยวันนี้ยังเมาค้างอยู่เลย ให้เปลี่ยนเป็น เมื่อไม่นานมานี้ผมเคยดื่มหนักไปหน่อยเลยโดนภรรยาดุเอา

การนำเสนอตัวเองใน 1 นาที

เวลาเล่าเรื่องอะไรสักอย่างให้พูดสรุปภายในเวลา 30 วินาทีจนถึง 1 นาที การนำเสนอตัวเองมีจุดประสงค์เพื่อทำให้อีกฝ่ายรู้จักตัวเราและคลายความระแวง ดังนั้นจึงควรเล่าเรื่องผิดพลาดเล็กน้อยในระยะเวลาที่พอเหมาะและเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้พูดด้วย

หัวข้อที่ไม่ควรนำมาคุยเล่น

เรามักจะได้ยิน หัวข้อต้องห้าม ที่ไม่ควรนำมาใช้สนทนามีอยู่ด้วยกันหลายหัวข้อ หัวข้อที่โดดเด่นในเรื่องนี้และพูดถึงอยู่บ่อย ๆ ก็คือเรื่องการเมืองและศาสนา เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับแนวคิดส่วนตัว ที่สำคัญหากคุยเรื่องเหล่านี้แบบดงลึกมาก ๆ มันอาจจะไม่ใช่การคุยเล่นแต่กลายเป็นการถกเถียงแทน

หัวข้อที่จะใช้ในการคุยเล่นควรจะเป็นเรื่องเบา ๆ บรรยากาศการสนทนาถึงจะได้สนุกสนาน กฎเหล็กคือการคุยเล่นต้องไม่ถกเถียงกันอย่างเด็ดขาด

ดังนั้นเราจำเป็นต้องมีทักษะการอ่านบรรยากาศซึ่งเนื้อหาส่วนนี้ก็คล้ายกับหนังสือเรื่องทำไมคุยกับคนนี้แล้วรู้สึกดีจัง

ในหนังสือเล่มนี้ยังมีวิธีแสดงปฏิกิริยาตอบกลับแบบต่าง ๆ มีทั้งข้อความและภาพประกอบเพื่อให้เราฝึกพูดและแสดงออกท่าทางได้อย่างเป็นธรรมชาติและเข้ากับสถานการณ์และเนื้อหาที่คุย

อย่าเป็นคนเก่งที่คุยไม่เป็น - krapalm 2023 01 26 144540 4 - ภาพที่ 3

เวลาชมให้พึมพำชม

เมื่ออีกฝ่ายบอกเรื่องที่มีประโยชน์ หรือพูดสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกประทับใจ ให้เราใช้วิธีพึมพำในการบอกความรู้สึกหรือชมอีกฝ่าย การพึมพำชมจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเรากล่าวชมจากใจจริงมากกว่าการมองหน้าอีกฝ่ายแล้วเอยชมอย่างโจ่งแจ้ง

บอกว่าจะพูดเกี่ยวกับอะไรภายในเวลา 10 วินาที

เทคนิคแจกแจงประเด็นสำคัญล่วงหน้า คือการบอกเนื้อหาโดยรวมล่วงหน้าในทำนองว่าประเด็นสำคัญของเรื่องนี้มีอยู่ด้วยกัน 3 หัวข้อ จะช่วยให้อีกฝ่ายตั้งใจฟังเพื่อทำความเข้าใจเรื่องที่อีกฝ่ายกำลังจะพูดและนึกอยากจดโน้ตขึ้นมาโดยอัตโนมัติ

ถ้าเป็นไปได้ควรพูดโดยใช้เวลารวมประมาณ 10 วินาทีและมากสุดไม่เกิน 17 วินาที ว่ากันว่าเวลา 17 วินาทีเป็นขีดจำกัดของมนุษย์ในการจำข้อมูลผ่านการฟังดังนั้นถ้าเราพูดยาวเกินไปอีกฝ่ายจะจำไม่ได้

การคุยเล่นเล็ก ๆ น้อย ๆ จะก่อให้เกิดความรู้สึกร่วมและเข้าใจที่ลึกซึ้งซึ่งกลายเป็นรากฐานของความสัมพันธ์ที่ไว้ใจกันในภายหลัง

ถ้าเราสื่อสารโดยที่เราสามารถทำให้อีกฝ่ายคิดว่าเราเข้าใจความรู้สึกของเขาและเข้าใจเรื่องที่เขาพูดและทำให้เขาไว้วางใจในตัวเราความสัมพันธ์ก็จะแน่นแฟนขึ้น