รีวิวหนังสือในบทความนี้ ชื่อหนังสือว่า “Check Your Balance ยอดคนเงินเหลือ” สำนักพิมพ์ SALMON BOOKS เป็นหนังสือที่ว่าด้วย 12 เช็กลิสต์นิสัยทางการเงิน เพื่อชีวิตแสนสุขและเป็นมนุษย์ที่มีเงินเหลือใช้ เล่มนี้ถือเป็นเล่มที่ 59 ของปี 2023 แล้ว ผู้เขียนคือเจ้าของเพจ ลงทุนศาสตร์ ที่เขียนคอนเทนต์เกี่ยวกับการเงิน-การลงทุน ปัจจุบันมีผู้ติดตามเกือบ 1 ล้านคน อีกทั้งมีผลงานหนังสือก่อนหน้าคือ Money Lecture เรียนหนึ่งครั้งใช้ได้ทั้งชีวิต และ Stock Lecture ลงทุนหุ้นได้ในเล่มเดียว ซึ่งได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจนได้พิมพ์ซ้ำ จึงมีฐานผู้อ่านที่น่าจะสนใจหนังสือเล่มนี้จำนวนหนึ่ง
หนังสือ “Check Your Balance ยอดคนเงินเหลือ” มีเนื้อหาว่า “เงิน” กับ “ความสุข” อาจไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่มนุษย์ต้องการมันทั้งคู่ เราจึงต้องหมั่นเช็กดู ว่าวางแผนจัดการให้สองสิ่งนี้อยู่ในชีวิตอย่างสมดุลแล้วหรือยัง?
“Check Your Balance ยอดคนเงินเหลือ” เล่มนี้ จะพาคุณไปพบกับเช็กลิสต์ 12 ข้อว่าด้วยแนวคิดการจัดการเงินขั้นพื้นฐาน นำไปเช็กพฤติกรรมของตัวเอง แล้วนำปรับใช้ให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ เพื่อชีวิตที่บาลานซ์ทั้งทรัพย์สินและความสุขของแต่ละคน ตั้งแต่จดบันทึกรายรับ-รายจ่าย หลักกระจายความเสี่ยง การซื้อประกัน การลงทุน ไปจนถึงการเตรียมรับมือในวันที่หมดตัว เพื่อเป้าหมายการเป็นยอดคนที่มีเงินเหลือใช้และยิ้มได้ในทุกการควักตังค์ โดย “ลงทุนศาสตร์” นักเขียน และนักการเงินการลงทุน ผู้เขียน Money Lecture เรียนหนึ่งครั้งใช้ได้ทั้งชีวิต และ Stock Lecture ลงทุนหุ้นได้ในเล่มเดียว
รีวิวสรุปข้อคิดจากหนังสือ Check Your Balance ยอดคนเงินเหลือ
อย่ายืมรองเท้าคนอื่นใส่ แผนการเงินส่วนบุคคลไม่ต่างจากรองเท้า เพราะมันมีความเฉพาะเจาะจงสูง ใช้วัตถุดิบในการผลิตได้หลากหลาย ถึงจะมีรูปทรงและขนาดเท่ากันพอดี แต่บางคนใส่แล้วชอบบางคนใส่แล้วอาจจะไม่ถูกใจ
โครงสร้างใหญ่ของชีวิตหรือเป้าหมายทางการเงินสำคัญๆ เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือเป้าหมายการเกษียณมักจะไม่เปลี่ยนแปลง การวางแผนการเงินจึงเหมือนการบรรจงตัดรองเท้าแบบดีเยี่ยมมาสักคู่ เป็นคู่ที่เราจะใช้ตลอดไป อาจซ่อมบ้าง ปรับบ้าง ขยับเพิ่มลดขนาดตามสมควรบ้าง แต่เราจะไม่ต้องหารองเท้าคู่ใหม่ไปเรื่อยๆ
บัญชีรายรับ-รายจ่ายเป็นวิธีทางการเงินสุดพื้นฐานที่ให้ประโยชน์ต่อคนทำมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ต้องการจะวางแผนการเงินอย่างจริงจัง เก็บเงินออม เก็บเงินลงทุน สร้างเนื้อสร้างตัว การจดบัญชีรายรับรายจ่ายจะช่วยให้เราเห็นภาพการใช้เงินของตัวเอง โดยเฉพาะการรั่วไหลของค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
คุณอาจเคยเจอคนมีเงินจำนวนมากที่ไม่ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย แต่เขาก็รวยได้ ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะเขามีรายได้มากๆ แล้วต่อให้เขาใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายไปบ้าง เขาก็ยังมีเหลือเก็บมากกว่าคนทั่วไปอยู่ดี
อย่ามองข้ามภาษี วิธีหนึ่งที่จะทำให้ชีวิตการเงินของคุณมี balance ที่ดีก็คือการเรียนรู้และทำความเข้าใจภาษี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เพิ่งจบใหม่ กำลังเติบโตและมีรายได้สูงขึ้นเรื่อยๆ
ปัญหาเรื่องภาษีคือ happy problem เป็นปัญหาที่มาจากความสุข เพราะคุณมีรายได้เพิ่มขึ้น คุณถึงต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ดี
เราทำประกันชีวิตเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการเสียชีวิตเพื่อส่งต่อเงินก้อนให้กับคนข้างหลัง คนไม่จำเป็นต้องทำประกันชีวิตหลายๆ ฉบับหรือจ่ายเบี้ยประกันสูงๆเพื่อจะจ่ายภาษีให้น้อยลง จำไว้ว่าประกันชีวิตจะคุ้มค่าก็ต่อเมื่อคนทำเสียชีวิตเท่านั้น
อย่าคิดว่าตัวเองจะโชคดีเสมอ ควรทำประกันสุขภาพและประกันชีวิต จากข้อมูลของสำมะโนประชากรปี 2560 พบว่าเฉลี่ยแล้วเรามีโอกาสตายประมาณ 0.7% หรือ 7 ใน 1000 คน แม้จะเป็นตัวเลขต่ำในระดับน้อยกว่า 1% แต่โอกาสที่คุณจะตายตอนนี้ไม่ใช่ตัวเลข 0% เสียทีเดียว
ประกันชีวิตมีไว้ป้องกันความเสี่ยงเมื่อเสียชีวิต ถ้าคุณเริ่มต้นจะทำประกันโดยไม่คิดจะป้องกันความเสี่ยง คุณกำลังไปผิดทาง
อย่าเก็บเงินทั้งหมดในบัญชีฝากประจำ มีผลิตภัณฑ์การเงินอีกหลายประเภทที่คล้ายกับเงินฝากประจำและปลอดภัยเช่นกัน เช่น เงินฝากไม่ประจำ สลากออมทรัพย์ ตราสารหนี้
อย่าเก็บไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว อย่ามีรายได้ทางเดียว ไม่ว่ารายได้ทางนั้นจะมากมายและสำคัญแค่ไหน คุณต้องกระจายความเสี่ยงไปอย่างรายได้ช่องทางอื่นบ้าง อย่างน้อยเมื่อวันเลวร้ายที่สุดมาถึง รายได้ช่องทางหลักหายไปคุณก็ยังเหลือช่องทางอื่นจุนเจือ
ถ้าคุณไม่ถนัดทำธุรกิจจริงๆ การลงทุนอาจเป็นคำตอบ การเป็นนักลงทุนไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องมีพอร์ตลงทุนเป็นแสนเป็นล้าน อาจเริ่มต้นจากเงิน 100 บาท 1,000 บาท ค่อยๆ ใช้จังหวะการสะสมทบต้นไปเรื่อยๆ คุณก็เป็นนักลงทุนได้แล้ว
อย่าคิดว่าการมีลูกใช้เงินนิดเดียว คุณอาจต้องเผื่อค่าการศึกษาไว้ให้ลูกและเผื่อค่าเลี้ยงดูไว้ให้ลูกด้วย
อย่าก่อหนี้โดยไม่จำเป็น ก่อนที่จะสร้างหนี้ลองดูว่า
1 จำเป็นไหม หมายถึงการไม่สร้างหนี้ครั้งนี้จะทำให้ชีวิตเป็นไปอย่างยากลำบากหรือไม่
2. คุ้มค่าไหม หากู้หนี้เป็นเรื่องจำเป็นแล้ว สิ่งที่ต้องคิดต่อคือดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย คุ้มค่าหรือไม่กับการได้เงินก้อนนั้นมา
3. คุณมีความสามารถจะจ่ายคืนได้หรือเปล่า อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือการตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะเอาไปคืนเขาอย่างไร ลองพิจารณาถึงสภาพคล่องของตัวเองก่อนตัดสินใจ
อย่าให้ยืมแบบไม่คิด อย่าเอาชีวิตไปค้ำประกันใคร
อย่าเผลอใจไปกับแชร์ลูกโซ่ แชร์ลูกโซ่ คือ หายนะอันดับ 1 ที่จะทำให้เงินในบัญชีของคุณวายวอด
อย่าลงทุนโดยไม่มีความรู้ สมมุติคุณมีเงิน 1 ล้านคุณอาจจะต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนกว่าจะใช้หมด แต่สำหรับการลงทุน การทำเงินล้านให้หมดไปอาจจะหมายถึงเวลาแค่ชั่วเสี้ยวนาที รู้ตัวอีกทีเงินก็หายเกลี้ยงได้เลย ก่อนลงทุนอะไรควรต้องศึกษาก่อน