หนังสือเล่มที่ 3 ที่ผ่านจบในปี 2023 นั้นคือ The Psychology of Money : จิตวิทยาว่าด้วยเงิน อ่านต่อหลังจากที่อ่านเรื่อง ชีวิตเราไม่ได้ยืนยาวพอที่จะอยู่อย่างอดทน โดยเล่มนี้ใช้เวลาอ่านจริง ๆ ราวๆ 5-6 วัน ก็ตามเดิมคืออ่านในช่วงที่เดินทางมาทำงาน และเดินทางกลับบ้านหลังเลิกงาน และมี 1 วันที่ไปนั่งอ่านในร้านกาแฟ พออ่านจบก็ตามธรรมเนียมที่จะหยิบมาสรุปเนื้อหาและรีวิว หนังสือเล่มนี้เป็นอีกเล่มที่อ่านง่ายมาก เนื้อหาไม่ออกทะเล มีแต่เนื้อ ๆ เน้น ๆ อ่านจบเร็ว อ่านสนุกมาก ตัวหนังสือตัวใหญ่ไม่ปวดตาเวลาอ่าน
ปกติแล้วหนังสือด้านการเงินจะสอนให้เรารู้จักการใช้เงิน การบริหารจัดการเงิน การแบ่งสรรปั่นส่วนในการใช้จ่ายและเก็บออม แต่หนังสือ The Psychology of Money : จิตวิทยาว่าด้วยเงิน เล่มนี้เป็นหนังสือจิตวิทยาว่าด้วยเรื่องการเงิน ให้มุมมองเกี่ยวกับเรื่องเงินที่แตกต่างออกไป ให้เราได้สำรวจความสัมพันธ์ระหว่างคนและเงินในมุมมองที่หลากหลายมิติ ผ่านการรวบรวมข้อมูลและสังเกตของนักเขียนที่ชื่อ Morgan Housek ซึ่งมีอาชีพเป็นนักวางแผนการเงินที่คลุกคลีกับเงินและบรรดาเจ้าของเงินอยู่ตลอดเวลา จึงมีข้อมูลมากมายมาแชร์ให้ผู้อ่านได้ฟัง
หนังสือ The Psychology of Money : จิตวิทยาว่าด้วยเงิน ได้นำเสนอเรื่องราวการเงินที่แตกต่างออกไปจากการสังเกตุพฤติกรรมทางการเงินว่ามีแรงจูงใจมาจากอะไรบ้าง เช่น อารมณ์ ความรู้สึก และการรับรู้ของปัจเจกบุคคล อาจจะมีความสำคัญและผลกระทบกับเรื่องเงินมากกว่าสิ่งที่เรารู้หรือสิ่งที่เราคิดดีจริงเป็นสิ่งที่เรียกว่าจิตวิทยาการเงิน
The Psychology of Money : จิตวิทยาว่าด้วยเงิน แบ่งออกเป็น 20 บทหลัก ๆ แต่งจริงถ้านับทั้งหมดจะมี 22 และมีส่วนของ กิตติกรรมประกาศด้วย
รีวิว The Psychology of Money : จิตวิทยาว่าด้วยเงิน (มีเนื้อหาที่สปอย)
พออ่านไปได้หลายบทผ่านไปได้มุมมองและมิติในการมองและให้ความหมายของเงินในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน โดยเฉพาะในบทที่สองเรื่องโชคและความเสี่ยง มีการยกตัวอย่างให้เราเห็นแนวคิดและมุมมองหลายหลายอย่าง เช่น หากในโลกนี้มีนักลงทุน 1 ล้าน คนเราคาดหวังไว้ว่าใน 10 คนนั้นจะกลายเป็นมหาเศรษฐีเพราะโชคช่วย แน่นอนแล้วก็คงคิดว่ามันต้องมีอยู่แล้ว แต่มันคงหยาบคายในการบอกใครสักคนว่า ความสำเร็จของพวกเขานั้นมาจากความโชคดี ดังนั้นพื้นฐานปกติของคนมักจะเพิกเฉยต่อโชคและไม่ได้มองเหมือนว่าเปลี่ยนปัจจัยแห่งความสำเร็จโดยปริยาย
อีกหนึ่งเนื้อหาที่ผมชอบก็คือ มีนักเศรษฐศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่า ฐานะของคนที่เป็นพี่น้องกันนั้นมีความสำคัญมากกว่าส่วนสูงหรือน้ำหนักสะอีก ถ้าหากว่าเรารวยและสูงแล้วพี่ชายของเราก็มีแนวโน้มที่จะเป็นคนรวยมากกว่าคนสูง หรือคุณภาพทางการศึกษาของเราและโอกาสที่เปิดให้กับเรานั้นเชื่อมโยงกับฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจของครอบครัวเราเป็นอย่างมาก
ในเนื้อหาบทที่สาม เรื่องไม่เคยพอ มีหัวข้อหนึ่งพูดถึงทักษะทางการเงินที่ยากที่สุดคือ การทำให้เป้าหมายหยุดเคลื่อนที่ มันจะเริ่มอันตรายหากความรู้สึกของการอยากมีเงินมากขึ้น มีอำนาจมากขึ้น มีเกียรติยศมากขึ้น ทำให้ความทะเยอทะยานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าความพึงพอใจ หากเป็นเช่นนั้นเก้าหนึ่งที่ก้าวไปครั้งหน้า จะผลักเป้าหมายออกไปอีกสองเก้า เราจะรู้สึกราวกับว่าเรารั้งท้ายอยู่ด้านหลัง และทางเดียวที่ตามเป้าหมายทันคือเราต้องรับความเสี่ยงในปริมาณที่เพิ่มขึ้นและมากขึ้น
รู้ว่าเมื่อไหร่ควรจะพอ
และอีกหัวข้อที่ว่าด้วยเรื่อง สิ่งที่ไม่ควรค่าแก่การเสี่ยง ไม่ว่ามันจะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้มากแค่ไหน ในหัวข้อนี้ให้มุมมองว่าอย่ายึดติดอะไรบางอย่างมากจนเกินไป ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียงความสำเร็จหรืออะไรก็แล้วแต่
เพราะ ชื่อเสียงนั้นประเมินค่ามิได้ อิสรภาพและเสรีภาพก็ประเมินค่าไม่ได้ ครอบครัวและเพื่อนฝูงนั้นประเมินค่าไม่ได้เช่นกัน การถูกรักจากคนที่เราต้องการให้รักก็ประเมินค่าไม่ได้ และที่สำคัญความสุขนั้นก็ประเมินค่าไม่ได้ และสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ก็คือ การรู้ว่าเมื่อไหร่คือเวลาที่เราจะต้องหยุดรับความเสี่ยงที่อาจจะต้องส่งผลอันตรายต่อสิ่งเหล่านี้ มันคือการรู้ว่าเมื่อไหร่ที่เราควรจะพอได้แล้ว
การทบต้นที่ทำให้งงงวย
ในบทนี้เปรียบเทียบการทำงานของดอกเบี้ยทบต้นกับการแช่แข็งของน้ำแข็งในแต่ละยุค ที่มันค่อยค่อยสะสมกันมาเรื่อยเรื่อยจากน้ำฝนหรือหิมะที่ไม่ถูกละลายในฤดูร้อน แล้วมีน้ำฝนและหิมะเพิ่มเข้ามาในฤดูหนาวสะสมแบบนี้ไปเรื่อยเรื่อย สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เราได้เรียนรู้จากอยู่น้ำแข็ง คือ เราไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานมหาศาลในการสร้างผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ หากมีอะไรบางอย่างสะสมเพิ่มขึ้น ถ้าหากการเติบโตเป็นเล็กน้อยทำหน้าที่เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการปรับตัวในอนาคตการเริ่มต้นเล็ก ๆ ก็สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่น่าอัศจรรย์เสียจนดูเหมือนว่ามันต่อต้านระบบการใช้เหตุผลเหมือนกับน้ำแข็งที่สะสมไปเรื่อย ๆ
ลงทุนที่ดีนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องการได้รับผลตอบแทนที่สูง
หนังสือเล่มนี้ยังให้มุมมองว่าการลงทุนที่ดีนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องการได้รับผลตอบแทนที่สูงที่สุด เพราะว่าผลตอบแทนที่ดีที่สุดนั้นมันจะเป็นการได้มาแค่ครั้งเดียว และไม่สามารถทำซ้ำได้มันเป็นเรื่องของการได้รับผลตอบแทนค่อนข้างดีที่เราสามารถยึดติดกับมันและทำต่อไปได้ในระยะยาว
เราชอบประโยคหนึ่งในบทที่ห้าว่า การได้มาซึ่งความมั่นคงเป็นเรื่องหนึ่งการรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
การหาเงินมาได้นั้นต้องใช้การแบกรับความเสี่ยงการเป็นคนมองโลกในแง่ดี และการเอาตัวรอดไปอยู่ในที่ถูกต้อง แต่การรักษาเงินนั้นต้องใช้ทักษะตรงกันข้าม การยอมรับความเสี่ยงมันต้องใช้ความอ่อนน้อมถ่อมตน และความหวัดกลัวว่าสิ่งที่เราสร้างขึ้นมานั้นสามารถถูกพากไปจากเราได้เร็วพอ ๆ กับตอนที่เราได้มันมา
นักซื้อขายงานศิลปเทียบกับการซื้อกองทุนดัชนี
มีเนื้อหาตอนหนึ่งที่พูดถึงนักซื้อขายงานศิลปะที่ดำเนินการซื้อขายทุกชิ้น ทเียบได้กับการซื้อกองทุนดัชนี เพราะพวกเขาจะซื้อทุกอย่างที่สามารถซื้อได้ และพวกเขาซื้อมันไว้เป็นพอร์ตการลงทุน ไม่ใช่แค่ซื้อเพียงงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งที่พวกเขาเกิดความชอบ จากนั้นพวกเขาก็นั่งรอคอยว่าจะมีผลงานชิ้นไหนปรากฏตัวเด่นขึ้นมา
ความย้อนแย้งของชายขับรถยนต์
และมาถึงเนื้อหาบทที่แปดเรื่องความย้อนแย้งของชายในรถยนต์ เป็นเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ที่เรารู้สึกว่าเราชอบที่สุด และรู้สึกว้าวมากที่ได้มุมมองแบบนี้จากหนังสือเล่มนี้ ในบทนี้บอกว่า มีแค่ตัวคุณเท่านั้นที่หลงใหลในสิ่งที่เราครอบครอง
ในเนื้อหาให้มุมมองว่าหากคุณเป็นคนรวยที่ขับรถหรูอย่าง Ferrari ลัมโบร์กีนี หรือโรลสรอยส์คุ ณอาจจะคิดว่านี่คือสิ่งที่ทำให้คนอื่นรู้ว่า คุณทำได้ คุณเก่ง คุณรวย คุณมีรสนิยม คุณคือคนสำคัญ และคนเหล่านั้นต้องมองมาที่ฉันสิ
แต่ในความเป็นจริงคือ ผู้คนแทบไม่เคยมองไปที่คนขับเลย เมื่อผู้คนที่เห็นคนขับรถหรูจะไม่คิดว่าว้าวคนนะครับรถคันนี้เท่ห์จัง ในทางกลับกันใครจะคิดว่า ว้าว! ถ้าฉันมีรถคันนั้นคนอื่นคงคิดว่าฉันเท่ นี่คือสิ่งที่คนส่วนใหญ่คิด ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
ความย้อนแย้งคือ คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะต้องการความมั่นคั่งเพื่อส่งสัญญาณบอกให้คนอื่นรู้ว่าพวกเขานั้นควรได้รับการยกย่องเชิดชู แต่แท้จริงแล้วผู้คนมักมองข้ามสิ่งเหล่านี้ในตัวคุณไป ไม่ใช่เพราะพวกเขาคิดว่าความมั่งคั่งไม่น่าชื่นชม แต่เพราะพวกเขาใช้ความมั่งคั่งของคุณเป็นตัวชี้วัดความต้องการที่จะได้รับการยกย่องเชิดชูของตัวพวกเขาเอง
คนส่วนใหญ่ที่ประทับใจในตัวรถไม่ได้รู้สึกชื่นชมเจ้าของรถเลย ซึ่งแนวคิดนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับผู้คนที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังใหญ่ได้ด้วย รวมถึงเสื้อผ้าเครื่องประดับ
ประเด็นที่หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงคือไม่ได้จะละทิ้งการแสวงหาความมั่งคั่ง หรือแม้แต่รถหรู แต่ให้มุมมองว่าการใช้เงินซื้อของหรูหราอาจไม่ได้ทำให้คุณถูกยอมรับอย่างที่คุณคิด หากความเคารพและการยกย่องคือเป้าหมายของคุณ จงระมัดระวังวิธีที่คุณแสวงหามัน ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความเมตตา และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นต่างหาก ที่จะนำมาซึ่งความศรัทธามาให้คุณมากกว่าแรงม้าของรถที่คุณมี
ความมันคั้งคือสิ่งที่คุณมองไม่เห็น
บทนี้เปรียบเทียบระหว่างความร่ำรวยและความมั่งคั่ง ความร่ำรวย คือ สถานะรายได้ในปัจจุบันบางคนขับรถราคา 100,000 เหรียญ ก็แทบจะเรียกว่าเป็นคนรวยได้แล้ว ถึงแม้ว่าพวกเขาจะเป็นหนี้แต่พวกเขาก็ต้องมีรายได้ที่สามารถอยู่ในเกณฑ์จ่ายค่างวดรถรายเดือนได้
แต่ความมั่งคั่งถูกซุกซ่อนอยู่ มันคือ รายรับที่ไม่ถูกจ่ายออกไป ความมั่งคั่ง คือ ทางเลือกที่ยังไม่ถูกนำไปซื้ออะไร คุณค่าของมันอยู่ที่การทำให้คุณมีทางเลือกมีความยืดหยุ่นและงอกเงยเพียงพอที่จะทำให้คุณสามารถซื้อของได้มากกว่านี้
แน่นอนว่าคนที่มั่งคั่งก็ยังใช้เงินจำนวนมากไปกับการซื้อวัตถุสิ่งของ แต่สิ่งที่เราเห็นคือความร่ำรวยของพวกเขา ไม่ใช่ความมั่งคั่งของเขา เราเห็นรถที่เขาเลือกซื้อ เห็นบ้านที่เขาเลือกซื้อ แต่เราไม่เห็นบัญชีเงินฝาก บัญชีเกษียณอายุ และพอร์ตการลงทุนของเขา เราเห็นเพียงแค่บ้านที่พวกเขาซื้อแต่ไม่ใช่บ้านที่พวกเขาสามารถซื้อได้จากเงินทั้งหมดที่พวกเขามี
การเก็บออม
เนื้อหาในบทนี้ก็เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนของผลไปพอสมควร โดยในบทนี้พูดถึงสิ่งที่สำคัญกว่าคือปริมาณของความมั่งคั่งนั้นมีความสัมพันธ์กับสิ่งที่คุณอยากได้ โดยในบทนี้สมมตินักลงทุนมีอยู่สองคน
คนหนึ่งได้รับผลตอบแทนการลงทุน 8% ต่อปี อีกคนได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน 12% ต่อปี แต่คนแรกใช้เงินได้มีประสิทธิภาพมากกว่า สามารถมีความสุขได้ ด้วยเงินเพียงแค่ครึ่งเดียว ในขณะที่สไตล์การใช้ชีวิตของอีกคนนั้นเพิ่มขึ้นรวดเร็วพอ ๆ กับทรัพย์สิน
แต่คนแรกอยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบมากกว่าคนที่สอง ถึงแม้ว่าคนแรกจะเป็นนักลงทุนที่แย่กว่าคนที่สอง แต่คนแรกได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนมากกว่าถึงแม้ว่าจะได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่า เพราะใช้จ่ายน้อยกว่า
การเรียนรู้ที่จะมีความสุขกับเงินจำนวนน้อยกว่าจะสร้างช่องว่างระหว่างสิ่งที่เรามีกับสิ่งที่เราอยากได้ ทำให้เรามีอัตราการออมที่สูงขึ้น มีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าความสามารถในการใช้จ่ายของเรา และมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่า หมายความว่าการออมของเราจะสามารถไปได้ไกลกว่าที่มันควรจะเป็น
หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับคนที่สนใจเรื่องการลงทุนอยู่แล้ว มีทักษะมีความรู้เข้าใจคำศัพท์เข้าใจความหมายในการลงทุนอยู่บ้างจะทำให้อ่านหนังสือเล่มนี้สนุก และยิ่งถ้าคุณรู้จักคนดังดังในวงการการลงทุน คุณจะยิ่งอินกับหนังสือเล่มนี้มาก ๆ เพราะมีการหยิบยกประวัติ การลงทุนของแต่ละคนมากล่าวถึง หากไม่รู้จักก็จะอ่านไม่ค่อยสนุก แล้วก็มีหลายหลายคำศัพท์ที่เป็นคำศัพท์ด้านการลงทุนถ้าหากไม่เข้าใจบางทีอาจจะงงได้