[รีวิว] สรุปเนื้อหาหนังสือ “จิตวิทยาสายดาร์ก” [เล่มที่ 57 ของปี 2023]

จิตวิทยาสายดาร์ก

ในบทความนี้จะมารีวิว หนังสือ จิตวิทยาสายดาร์ก ให้ชมกัน หลังจากใช้เวลาอ่านราวๆ 1 สัปดาห์ เล่มนี้ได้มาตั้งแต่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ช่วงเดือนมีนาคม 2566 แต่ก็ไม่ใช่สถิติหนังสือที่ถูกดองนานที่สุดอยู่ดี เล่มนี้ถือเป็นหนังสือเล่มที่ 57 ของปี 2023 ที่ผ่านจบ

หนังสือ จิตวิทยาสายดาร์ก เล่มนี้อธิบายถึงวิธีล้างสมอง โดยใช้คำพูดควบคุมจิตใจผู้ฟัง ผู้เขียนมีความต้องการที่จะทำหนังสือที่ช่วยให้ผู้อ่านทุกคนสามารถพัฒนาทักษะการสื่อสารได้ สิ่งที่ผู้อ่านจะได้จากหนังสือเล่มนี้หลักๆมีอยู่ 2 ประเด็นด้วยกัน คือ “การพัฒนาทักษะการสื่อสาร” และ “การไม่ถูกหลอกง่ายๆ”

เนื่องจากการอ่านหนังสือ จิตวิทยาสายดาร์ก อย่างมีจุดประสงค์จะช่วยให้ผลลัพธ์ของการอ่านเพิ่มขึ้นหลายเท่า ซึ่งในช่วงเริ่มต้นของหนังสือผู้เขียนได้อธิบายเกี่ยวกับแต่ละประเด็นอย่างง่ายๆเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจจุดประสงค์ในการอ่านหนังสือเล่มนี้

*คลิกอ่านตัวอย่างหนังสือ*

สั่งซื้อหนังสือจิตวิทยาสายดาร์ก

ถ้าคุณอยากพัฒนาทักษะการสื่อสาร

  • อยากคุยเก่งขึ้น
  • อยากเป็นพนักงานขายที่ขายเก่ง
  • อยากเป็นที่ชื่นชอบและได้รับความเชื่อใจจากผู้คน
  • อยากมีเสน่ห์ดึงดูดเพศตรงข้าม

ถ้าคุณมีปัญหากลุ้มใจเกี่ยวกับการสื่อสารทำนองนี้พออ่านหนังสือเล่มนี้จบคุณก็จะมองเห็นแนวทางในการแก้ปัญหา

ไม่ว่าจะเป็นในสถานการณ์การทำงานหรือในชีวิตส่วนตัว หนังสือเล่มนี้ก็ช่วยแก้ปัญหาการสื่อสารให้คุณได้

ถ้าคุณไม่อยากถูกหลอกง่ายๆ

เมื่อคุณรู้โนว์ฮาวในหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับการล้างสมองแล้ว คุณก็จะสังเกตเห็นว่ามีเทคนิคการล้างสมองแฝงอยู่ตามที่ต่างๆ

โนว์ฮาวในการชักจูงอันน่ารังเกียจ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การหลอกขายสินค้าแบบไร้ศีลธรรม หรือการเผยแพร่คำสอนงมงายของลัทธิศาสนาเท่านั้น บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เผยแพร่โฆษณาทางโทรทัศน์ และนักการเมืองเองก็ใช้เทคนิคการล้างสมองที่เหนือชั้น ในการปลูกปั่นผู้คนจำนวนมากเช่นกัน

รีวิวสรุปเนื้อหาจากหนังสือ จิตวิทยาสายดาร์ก

ความจริงที่ว่า “คู่มือการพูด” ไม่ได้ช่วยให้พูดเก่งขึ้น

หากพูดในแง่ของศาสตร์ การสื่อสารเป็นเรื่องของจิตวิทยามากกว่าภาษา คนที่พูดเก่งไม่ใช่คนที่ใช้คำพูดได้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ แต่เป็นคนที่พูดแล้วสื่อถึงใจอีกฝ่ายได้ ซึ่งทักษะที่จำเป็นในการสื่อถึงใจอีกฝ่ายไม่ใช่วิธี ใช้คำพูดที่เหมาะสม แต่เป็น วิธีสร้างความประทับใจที่เหมาะสม

การพูดเก่ง ไม่ใช่พูดตามหลักไวยากรณ์ที่ถูกต้องในรวดเดียว แต่เป็นการพูดที่ชักจูงอีกฝ่ายได้ต่างหาก

สิ่งสำคัญที่สุดในการล้างสมองคือ “การสร้างภาพลักษณ์”

สิ่งสำคัญที่สุดในการล้างสมองไม่ใช่เทคนิคการพูดหรือแววตาขณะที่พูด แต่เป็นภาพลักษณ์ที่ทำให้อีกฝ่ายคิดว่าควรรับฟังคำพูดของคนคนนี้ หรืออยากฟังสิ่งที่เขาพูดจัง

วิธีการคือแสดงให้คนอื่นรู้ภายใน 2 วินาทีว่าคนๆ นี้คือของจริง เมื่อมีภาพลักษณ์ที่น่าประทับใจ อีกฝ่ายก็จะยอมรับฟังและเชื่อถือในตัวเรามากขึ้น

การจะพูดเก่งหรือไม่เก่งตัดสินกันตอน “ก่อนพูด”

ตามกฏของเมห์ราเบียน คนอื่นใช้ประเมินความประทับใจในตัวเรามีสัดส่วนดังต่อไปนี้

  • เนื้อหาของคำพูด 7%
  • น้ำเสียง 38%
  • รูปลักษณ์ภายนอกและภาษากาย 55%

ข้อมูลจากคำพูดส่งผลต่อความประทับใจแค่ 7% เท่านั้นจึงแทบไม่มีความสำคัญ ข้อมูลจากการได้ยินมักถูกมองข้ามแต่ส่งผลต่อความประทับใจถึง 38% จึงมีความสำคัญระดับกลาง ข้อมูลจากการมองเห็นส่งผลต่อความประทับใจถึง 55% มีสัดส่วนเกินครึ่งหนึ่งจึงมีความสำคัญมาก

สิ่งสำคัญคือ ผู้พูดมีรูปลักษณ์ภายนอกแบบใด พูดด้วยท่าทางอย่างไร และใช้น้ำเสียงแบบไหน

ถึงจะหน้าตาไม่ดี แต่ก็ต้องทำตัวให้ดูดีเข้าไว้ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม คนเรามักให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ภายนอกก่อนเสมอ

ความขี้เหร่ไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมาแต่เกิด แต่เป็นสิ่งที่จิตใจของเราสร้างขึ้นมาภายหลังต่างหาก

เทคนิคของนักต้มตุ๋นในการทำให้อีกฝ่ายเปิดใจคุยด้วย

คือการประจบ เปิดบทสนทนาด้วยการเยินยอและประจบประแจง เพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง

แม้คนชมจะชมได้ห่วยบรม แต่คนเรานั้นถ้าโดนชมมากๆ เขาก็จะรู้สึกไว้ใจและเปิดใจให้อีกฝ่ายเอง

คนชมแบบไม่มีมูล ได้ผลกว่าการชมข้อดีที่เห็นผลชัดเจนถึง 100 เท่า ให้ชมว่ารสนิยมดีจัง แทน แต่งตัวสวยจัง

เช่น อีกฝ่ายใส่เสื้อเชิ้ตสวยๆ แทนที่เราจะชมว่า “เสื้อสวยจังครับ” ให้เปลี่ยนเป็นชมว่า “รสนิยมดีจังเลยครับ”

คนเรามักอยากฟังเรื่องดีๆ เกี่ยวกับตัวเอง แม้คุณจะพูดชมแบบไม่มีมูล อีกฝ่ายก็ยังตั้งใจฟังสิ่งที่คุณพูด

หัวข้อสนทนาอันทรงพลังที่คน 99% ให้ความสนใจ

ในกรณีที่ไม่รู้ว่าอีกฝ่ายสนใจเรื่องอะไร ขอแนะนำหัวข้อสนทนาที่คน 99% ให้ความสนใจ หัวข้อที่ว่าก็คือ เรื่องเกี่ยวกับตัวเอง

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่สนใจเรื่องตัวเองมากกว่าเรื่องคนอื่นพูดง่ายๆก็คือคนเราสนใจว่า “ฉันเป็นแบบไหนในสายตาคุณ” มากกว่าเรื่องที่ว่า “คุณเป็นใคร”

เทคนิคการพูดแบบวิถีมาร “การแสดงความรู้สึกร่วมพร้อมกับยกย่องอีกฝ่าย”

คุณต้องสื่อสารให้อีกฝ่ายรู้ว่าคุณรู้เรื่องงานอดิเรกของเขา พร้อมทั้งบอกว่าคุณเองก็เคยลองทำแล้วแต่เทียบกับเขาไม่ได้ จึงอยากให้เขาช่วยสอนหน่อย

2 วิธีตีสนิทคนที่เพิ่งเจอครั้งแรก

วิธีแรกคือชวนคุยเกี่ยวกับเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกของอีกฝ่าย เช่น ถ้าเจอคนที่ใส่สูทเป็นประจำ ก็ให้หาข้อมูลเกี่ยวกับเนคไทหรือสูตรเตรียมไว้ ให้อีกฝ่ายเป็นศูนย์กลางของการสนทนา อย่าลืมว่าสิ่งสำคัญคือการไม่อวดภูมิความรู้ของตัวเอง และเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายโอ้อวดอย่างอารมณ์ดี

คำพูดเวทมนต์ ที่ทำให้พูดเข้าใจง่ายขึ้นในพริบตา

ให้ใช้คำพูดว่า “พูดง่ายๆ ก็คือ เหมือน…นั่นแหละ” การพูดว่า “พูดง่ายๆ ก็คือ” จะทำให้อีกฝ่ายเหมือนถูกสะกดจิต พอคนบอกว่า “พูดง่ายๆ ก็คือ” อีกฝ่ายจะคิดโดยไม่รู้ตัวว่า “หลังจากนี้เขาจะพูดเรื่องที่เข้าใจง่ายเพราะงั้นเราต้องเข้าใจสิ”

คำพูดที่ว่า “เหมือน…นั่นแหละ” ก็ทรงพลังการพูดโดยเปรียบเทียบแบบกว้างๆ ว่า “เหมือน” อะไรสักอย่าง แม้จะไม่ได้ทำให้อีกฝ่ายเข้าใจสิ่งที่เราพูดอย่างถูกต้องเป๊ะ แต่ก็ช่วยให้ “พอจะ” เข้าใจในระดับหนึ่ง พอเวลาเรามีเรื่องที่ “พอจะเข้าใจ” ภายใต้จิตไร้สำนึกของเราจะนำมาปะปนกับเรื่องที่ “เข้าใจอย่างถ่องแท้” จนหลงคิดว่าเข้าใจเรื่องนั้นอย่างถ่องแท้จริงๆ

วิธีทำให้คนอื่นตั้งใจฟังคุณในพริบตา

เทคนิคที่จะช่วยให้ผู้คนตั้งใจฟังคุณมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดเทคนิคนี้ง่ายมาก และมีประสิทธิภาพยอดเยี่ยม นำไปใช้ได้ทันที

คุณคิดว่ามันน่าจะเป็นประโยคแบบไหน ?

ใช่แล้วคำตอบที่ถูกต้องก็คือ “ประโยคคำถาม” ถ้าคุณเอาแต่พูดอยู่ฝ่ายเดียวผู้ฟังก็จะฟังอย่างเดียวโดยไม่คิดตามวิธีป้องกันปัญหานี้ก็คือ ตั้งคำถามให้ผู้ฟังได้ใช้สมองคิด

วิธีตั้งคำถามง่ายที่สุดในโลก จำไว้แค่นี้ก็พอ “คุณคิดยังไง” โดยพื้นฐานแล้วไม่มีใครรู้สึกดีกับการที่ต้องฟังคนอื่นพูดอยู่ฝ่ายเดียวเพราะฉะนั้นลองตั้งคำถามทำนองว่า “คุณคิดยังไงกับเรื่องนี้” ดู

แค่เว้นจังหวะการพูดผู้ฟังก็มีสมาธิจดจ่อมากขึ้น

การเว้นจังหวะการพูดที่ว่าหมายถึงการนิ่งเงียบเป็นเวลาสั้นๆ ในระหว่างการสนทนา การนิ่งเงียบชั่วครู่จะช่วยดึงความสนใจและเพิ่มสมาธิของผู้ฟัง แค่นี้เงียบสัก 1-3 วินาทีก็ให้ผลลัพธ์เหลือเฟือ

วิธีพูดเรื่องที่เฉียบคมจนแทงใจคนอื่นได้ ที่พูดไม่รู้เรื่องส่วนมากจะยัดข้อมูลไว้ในประโยคเดียวมากเกินไป จำไว้ว่า 1 ประโยคมี 1 ข้อความ พูดง่ายๆ ว่าอย่าพูดข้อมูลทั้งหมดในรวดเดียวหลักพื้นฐาน คือให้พูดประโยคสั้นๆ

คุยเก่ง กับ พูดเก่ง ไม่เหมือนกัน

การคุยคือการสื่อสาร 2 ทางของคู่สนทนา ส่วนการพูดคือการสื่อสารอยู่ฝ่ายเดียว ทักษะการฟังช่วยให้คุณกลายเป็นคนคุยเก่งได้

มีคนมากมายที่เอาแต่ฝึกทักษะการพูด โดยละเลยทักษะการฟังที่สำคัญกว่าทักษะการพูดถึง 2 เท่า หากทำแบบนี้ก็ไม่มีทางคุยเก่งขึ้นได้เลย