แนะนำวิธีคิดและมองตามความเป็นจริง เมื่อมีความคิดวิตกกังวล และมีอาการแพนิค [ครบ 5 เดือนของการแพนิค]

pexels anna tarazevich 6136088

โรคแพนิคหรือโรควิตกกังวลมันได้เปลี่ยนมุมมองที่เรามีต่อโลก เราอาจจะมองสิ่งของที่เคยเห็นเปลี่ยนไป มองเห็นแสงสีที่เคยสดใสเป็นสีอย่างอื่น ราวกลับว่าเราสวมแว่นกันแดดตลอดเวลา จึงทำให้เห็นสีผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง สิ่งที่เรามองเห็นเปรียบได้กับความคิดของเราที่ทำให้เรามองความเป็นจริงผ่านตัวกรอง (กรอบความคิด) บางครั้งก็ถูกอารมณ์ความวิตกกังวลบิดเบือนไป

ปกติแล้วสมองเราเต็มไปด้วยเสียงต่าง ๆ มากมาย ทั้งเสียงในแง่ลบและแง่บวก แน่นอนว่าเสียงในแง่บวกเราแทบจะไม่ได้ใส่ใจมันเลย เรากลับใส่ใจเสียงแง่ลบ นี่จึงทำให้เรามีความวิตกกังวลมากขึ้น เราจึงควรพิจารณาความคิดที่หลายเข้ามาในสมอง โดยมองและคิด “ตามความเป็นจริง” (ไม่ง่ายเลย) ซึ่งความคิดที่ผุดขึ้นมาตามสัญชาตญาณที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวสิ่งเหล่านี้เรียกว่าความคิดอัตโนมัติ แต่คนที่เป็นแพนิคจะมีความคิดอัตโนมัติที่เป็นแง่ลบเยอะมาก ซึ่งมันดึงเราสู่วงจรอันตรายอย่างไม่น่าเชื่อ

เราเป็นแพนิคเข้าเดือนที่ 5 แล้ว เราเคยเขียนแนะนำ 6 วิธีรักษาโรคแพนิคด้วยตัวเอง ไป แม้เราไม่มีอาการแพนิคกำเริบ แต่ยังคงมีความแพนิคอยู่ มันเป็นเรื่องยากที่จะตัดสินว่าความคิดวิตกกังวลของเรานั้นเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน อย่าลืมว่าเราทุกคนมีเสียงในแง่ลบในหัวอยู่แล้ว แต่การแพนิคบางครั้งก็ฉุดเรา หรือบอกกับเราว่าสถานการณ์ที่กำลังเจออยู่อันตรายกว่าความเป็นจริง เราเลยไม่สามารถมองเห็นสถานการณ์นั้นบนความเป็นจริง (เหมือนคนที่ไม่มีอาการแพนิค) เราไม่สามารถมองเห็นสถานการณ์นั้นบนความเป็นจริง เพราะเรามองเห็นมันด้วยความคิดวิตกกังวล

แน่นอนว่าการคิดตามความจริงเป็นการคิดที่ดีต่อสุขภาพจิต มันทำให้เราเห็นภาพรวม แทนที่จะมองสถานการณ์ผ่านมุมมองที่บิดเบี้ยวจากความกังวลของการแพนิค แต่การมองตามความเป็นจริงมันไม่ง่ายขนาดนั้น

วิธีคิดและมองตามความเป็นจริงมันต้องผ่านการฝึกฝน โดยเฉพาะกับคนที่เป็นโรควิตกกังวลหรือแพนิค เราต้องหมั่นทดสอบความคิดที่กังวลอยู่ว่ามันเป็นจริงหรือไม่ ทำได้ง่าย ๆ ด้วยการระบุความคิดและกับดักความคิดของตัวเองแล้วประเมินหลักฐานและหาข้อสรุปว่า

  1. เราเอาข้อคิดเห็นมาปนกับข้อเท็จจริงใช่ไหม
  2. เราแน่ใจแบบ 100% หรือเปล่าว่าความคิดของเรานั้นถูกต้อง
  3. เราสับสนระหว่างสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น กับสิ่งที่เกิดขึ้นแน่ ๆ ใช่ไหม

ถ้าเราไม่แน่ใจในคำตอบให้เราลองตรวจสอบความจริงด้วยตัวเราเอง ซึ่งก็มีวิธีในการตรวจสอบความจริงอยู่หลายวิธี

  1. ข้อแรกเอาความคิดหรือสิ่งที่เราวิตกกังวลไปสอบถามเพื่อน สามารถสอบถามได้ทั้งในชีวิตจริงและในโซเชียลมีเดีย ว่าจากเรื่องดังกล่าวเพื่อนของเราจะทำหรือมีความคิดเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์นั้น แต่เรายังคงต้องชั่งน้ำหนักคำตอบของเพื่อนแต่ละคนด้วย จะให้ดีควรสอบถามเพื่อนหลาย ๆ คน และควรเลือกและมั่นใจว่า คนที่เราถามนั้นสามารถให้คำตอบบนหลักความเป็นจริงได้หรือเปล่า
  2. วิธีที่ 2 คือเป็นวิธีที่เราทำบ่อยที่สุด (เพราะง่ายกว่าวิธีแรกและรู้สึกปลอดภัยกว่า) แต่วิธีนี้นักจิตวิทยากับไม่ค่อยแนะนำ เพราะวิธีนี้จะช่วยเพิ่มความกังวลของเรามากขึ้นได้ นั่นก็คือ การค้นหาข้อมูลใน Google หรือในอินเตอร์เน็ต หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า เวลาเราเจ็บป่วยแล้วค้นหาข้อมูลใน Google Google จะนำคำตอบที่ร้ายแรงที่สุดของคำถามนั้นมาให้เรา นี่เลยเป็นสิ่งที่นักจิตวิทยาไม่แนะนำให้ทำ แต่มันช่วยได้ในกรณีที่เราอยากแน่ใจว่าเรื่องที่กังวลมีโอกาสเป็นจริงมากน้อยแค่ไหนก็ลองค้นหา Google ถึงความเป็นไปได้ที่คนเราจะ คิดหรือทำในสถานการณ์เดียวกับเราอย่างไรแน่นอนว่าบางสถานการณ์มันอาจจะไม่มีคำตอบและก็มีโอกาสที่บางสถานการณ์จะมีคำตอบที่เลวร้ายสุดๆให้เรา
  3. ข้อสุดท้ายข้อที่ 3 เป็นวิธีที่เหมือนจะง่าย แต่รู้สึกว่ายากที่สุด นั่นก็คือ คิดประโยคสรุปเอาไว้บอกกับตัวเองเมื่อมีความกังวลเรื่องนั้น ๆ ผุดขึ้นมา ที่บอกว่าง่ายก็เพราะว่ามันไม่ต้องพึ่งพาใคร แต่ที่บอกว่ายากก็คือมันต้องต่อสู้กับความคิดของตัวเอง และต้องมีสติในการบอกคำตอบเมื่อมีความกังวลผุดขึ้นมา หลักการคือเมื่อมีความกังวลแบบนี้ผุดขึ้นมาครั้งใด ให้บอกคำตอบบอกความคิดที่เป็นไปได้ตามจริงที่เตรียมไว้ อาศัยหลักฐานและข้อเท็จจริงที่ค้นพบ ซึ่งเราควรนำวิธีนี้ไปใช้ตรวจสอบความจริงได้ทุกครั้งที่มีความกลัวความวิตกกังวลผุดขึ้นมา เช่น ถ้ากลัวมีอันตรายจากการดื่มน้ำ เรานำเอาสถิติเรื่องตายจากการดื่มน้ำมายืนยันกับตัวเอง ว่าปกติแล้วคนเราตายจากกรณีนี้น้อยมาก ๆ มีเรามีแนวโน้มที่จะเจ็บตัวเพราะสาเหตุอื่นมากกว่าหลายเท่า